วิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

347 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ยุงลายที่เป็นต้นเหตุไข้เลือดออกร้อยละ 95 อยู่ตามบริเวณสวน โดยยุงตัวเมียมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 45 วัน หลังผสมพันธุ์แค่ครั้งเดียว สามารถวางไข่ตัวละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 1,000-2,000 ฟอง การเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกถือเป็นงานที่ท้าทายการบริหารจัดการของผู้บริหารทุกระดับ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ความรู้ความเข้าใจ และขอความร่วมมือประชาชนให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อลดปริมาณยุงให้น้อยที่สุด ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงที่สุดในการกำจัดยุงลาย ต้องช่วยกันดูแล ปิดฝาโอ่งน้ำกินน้ำใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ ส่วนในภาชนะเล็กๆ ในบ้านเรือน เช่น แจกัน ไม้ประดับ น้ำที่อยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ น้ำในเล้าไก่เลี้ยงตามบ้าน ให้เปลี่ยนน้ำ เททิ้งทุก 7 วัน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่สุดคือในห้องน้ำ โดยทั่วไปจะมีสภาพชื้น เย็น และมีมุมอับมืด จะเป็นที่ซ่อนตัวของยุงลายได้ จึงต้องหมั่นดูว่ามีลูกน้ำยุงลายหรือไม่ หากพบว่ามีแม้แค่ตัวเดียว ก็ให้ตักทิ้งไป หรือใช้น้ำให้หมดไป และถ่ายน้ำทิ้ง จะเป็นวิธีกำจัดยุงลายที่ดีที่สุด การพ่นหมอกควันไม่สามารถป้องกันในระยะยาว เป็นเพียงการควบคุมชั่วคราวเพื่อฆ่ายุงลายตัวแก่ในบริเวณที่มีการระบาด เพื่อไม่ให้ยุงที่มีเชื้อไปกัดหรือวางไข่ต่อที่อื่นๆ อีก

แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

          1. ยุงลายในประเทศไทยที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus)
          2. แหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายทั้งสองชนิดแตกต่างกัน โดยลูกน้ำของยุงลายบ้านจะอยู่ในภาชนะขังน้ำชนิดต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่อยู่ภายในบ้าน และบริเวณรอบๆ บ้าน เช่น โอ่งน้ำดื่มน้ำใช้ บ่อซีเมนต์เก็บน้ำในห้องน้ำ ถ้วยหล่อขาตู้กับข้าวกันมด แจกัน ภาชนะเลี้ยงพลูด่าง จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า และเศษวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำขัง เป็นต้น เมื่อปี ค.ศ. 2007 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเครกเวนเตอร์ สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของยุงลายบ้านได้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นยุงชนิดที่สองในโลกที่ได้รับการศึกษาจีโนมอย่างสมบูรณ์ พบว่าสายพันธุกรรมประกอบไปด้วยเบสจำนวน 1.38 ล้านคู่ สร้างโปรตีนทั้งหมด 15,419 ชนิด
          3. ลูกน้ำยุงลายสวนมักเพาะพันธุ์อยู่ในแหล่งธรรมชาติ เช่น โพรงไม้ โพรงหิน กระบอกไม้ไผ่ กาบใบพืชจำพวกกล้วย พลับพลึง หมาก ตลอดจนแหล่งเพาะพันธุ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น และอยู่บริเวณรอบๆ บ้านหรือในสวน เช่น ยางรถยนต์เก่า รางน้ำฝนที่อุดตัน ถ้วยรองน้ำยางพาราที่ไม่ใช้แล้ว หรือแม้แต่แอ่งน้ำบนดิน ยุงลายสวนตัวเมียจะไม่วางไข่บนน้ำโดยตรงเหมือนยุงชนิดอื่นๆ และมีความสามารถในการกัดได้รวดเร็วมาก ส่วนใหญ่คนที่ถูกกัดจะตบไม่ทัน

การกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย

          1. ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อน อะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ได้
          2. หมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ซึ่งเหมาะสำหรับภาชนะเล็กๆ ที่มีน้ำไม่มากนัก เช่น แจกันดอกไม้สด ทั้งที่เป็น
แจกันที่หิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ หรือแจกันประดับตามโต๊ะ รวมทั้งภาชนะและขวดประเภทต่างๆ
ที่ใช้เลี้ยงต้นพลูด่าง ฯลฯ
          3. ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ ใส่ให้ลึกประมาณ 3 ใน 4 ของความลึกของจานกระถางต้นไม้นั้น เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้ำต้นไม้ไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับกระถางต้นไม้ที่ใหญ่และหนัก ส่วนต้นไม้เล็กอาจใช้วิธีเทน้ำที่ขังอยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้งไปทุก 7 วัน
          4. การเก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด ไห กระป๋อง ฯลฯ และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ หรือคลุมให้มิดชิดเพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้
          5. บริเวณที่ปลูกต้นไม้ หากมีต้นไม้เยอะๆ ก็ทำให้มียุงเยอะ เพราะยุงจะชอบเกาะพักอยู่ในที่มืดๆ อับๆ ควรแก้ไขให้ดูโปร่งตาขึ้น ถ้าเป็นต้นไม้ประดับในบริเวณบ้าน ก็ต้องคอยสังเกตุว่ารดน้ำมากไปจนมีน้ำขังอยู่ในจานรองกระถางหรือเปล่า พยายามเทน้ำทิ้งบ่อยๆ

วิธีกำจัดลูกน้ำ

วิธีทางเคมี และชีวภาพที่นำมาใช้กำจัดลูกน้ำ ได้แก่
1. แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำ Bacillus thuringiensis israelensis และ Bacillus sphaericus
2. สารหยุดยั้งการเจริญเติบโตของแมลง เช่น methoprene
3. ยาฆ่าแมลงในกลุ่มสารออร์แกโนฟอสเฟต เช่น temephos
4. น้ำมันแร่ (mineral oils)
5. แผ่นฟิล์มโมเลกุลเดียว (monomolecular films)

ทรายกำจัดลูกน้ำ

          1. ทรายกำจัดลูกน้ำ เป็นทรายที่ถูกเคลือบด้วยสารเคมีที่มีชื่อสามัญว่า “ทีมีฟอส” (temephos) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต ใช้ใส่ในน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย อัตราส่วนที่ใช้ คือ ทรายกำจัดลูกน้ำ 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หากใช้ทรายกำจัดลูกน้ำตามอัตราที่กำหนดให้นี้จะไม่มีอันตรายต่อผู้บริโภค
          2. เป็นสารออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาท และการหายใจของลูกน้ำยุงต่างๆ สารทีมีฟอสมีความเป็นพิษสูงต่อตัวอ่อนของยุง รวมทั้งแมลงอื่นๆ เช่น ริ้น แมลงวันฝอยทราย แมลงหวี่ขน แมลงวันริ้นดำ และเหา จากการศึกษาพบว่ามีพิษน้อยต่อคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ แต่ยังมีความเป็นพิษสูงต่อนกบางชนิด
          3. ทรายกำจัดลูกน้ำที่ผลิตออกมาจำหน่ายมีหลายชื่อการค้า เช่น อะเบท (ABATE) เคมฟลีท แซนดาเบต (Chemfleet Sandabate) ลาวิฟอส เอสจี (Lavifos SG) เป็นต้น
          4. ทรายกำจัดลูกน้ำได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่า ปลอดภัยสำหรับการใส่ในน้ำดื่ม แต่มีข้อจำกัดที่ราคาค่อนข้างแพง

โอ่งน้ำ

          สำหรับโอ่งน้ำ ควรใช้วิธีปิดฝาให้มิดชิด ปิดปากโอ่งน้ำดื่มด้วยผ้ามุ้งหรือตาข่ายไนล่อน คาดเชือกรอบปากโอ่งให้แน่น แล้วจึงปิดทับชั้นนอกด้วยฝาอะลูมิเนียม เพื่อป้องกันฝุ่นละออง การปิดปากโอ่งด้วยฝาอะลูมิเนียมเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับโอ่งน้ำใช้ที่ต้องใช้น้ำอยู่เป็นประจำ ให้หุ้มฝาอะลูมิเนียมด้วยผ้ามุ้งอย่างหลวมๆ เวลาปิดฝา ชายผ้าจะกรอมลงไปกับตัวโอ่ง ช่วยป้องกันไม่ให้ยุงลายเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ในโอ่งได้

ยางรถยนต์เก่า

          1. ยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้กันแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นยางของรถเก๋ง รถกระบะ รถสิบล้อ หรือว่ารถแทรคเตอร์ หากวางทิ้งไว้นอกบ้าน เวลาฝนตกลงมาก็จะสามารถเก็บกักน้ำฝนไว้ได้ส่วนหนึ่ง แล้วก็จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ดีของยุงลาย
          2. การนำยางรถยนต์เก่ามาดัดแปลงให้เป็นประโยชน์แทนการวางทิ้งไว้เฉยๆ จะช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ดี เช่น นำมาทำเป็นที่ปลูกต้นไม้ ที่ปลูกพืชผัก สวนครัว เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นเก้าอี้ เป็นฐานเสา เป็นรั้ว เป็นชิงช้า หรือทำเป็นที่ปีนป่ายห้อยโหนสำหรับเด็กๆ แต่จะต้องดัดแปลงยางรถยนต์เก่านั้นให้ขังน้ำไม่ได้
          3. หากจะทำเป็นที่ทิ้งขยะ เป็นชิงช้าหรือเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น จะต้องเจาะรูให้น้ำระบายไหลออกไปได้ง่าย และหากจะทำเป็นรั้วก็ควรฝังดินให้ลึกพอที่ด้านล่างของยางรถยนต์นั้นไม่สามารถขังน้ำได้

ภายในบ้าน

1. แจกัน ควรใช้วิธีเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน
2. ขวดเลี้ยงพลูด่าง ควรใช้วิธีเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือปลูกด้วยดิน
3. จานรองขาตู้กับข้าว ควรใช้วิธีเติมน้ำเดือดลงไปทุก 7 วัน หรือใส่ชัน หรือขี้เถ้าแทนการใส่ด้วยน้ำ อาจพิจารณาใช้เกลือแกง น้ำส้มสายชู ผงซักฟอก ซึ่งเป็นของคู่บ้านคู่ครัวอยู่แล้ว เอามาใช้ในการควบคุม และกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จานรองขาตู้กับข้าว
4. จานรองกระถางต้นไม้ ควรใช้วิธีเทน้ำที่ขังอยู่ทิ้งลงดินทุก 7 วัน หรือใส่ทรายธรรมดาให้ลึก 3 ใน 4 ส่วนของจาน
5. ยางรถยนต์เก่า ควรใช้วิธีปกปิด เจาะรูหรือดัดแปลงให้ขังน้ำไม่ได้
6. อ่างบัว ควรใช้วิธีใส่ปลากินลูกน้ำ

ภายนอกบ้าน

1. ท่อระบายน้ำ ควรใช้วิธีระบายน้ำออก อย่าปล่อยให้ท่ออุดตัน
2. หลุมบ่อ แอ่งน้ำ ควรใช้วิธีกลบถมด้วยดินหรือทราย

แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำ

1. แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดินตามธรรมชาติ จึงไม่เป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง
ออกฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุงภายใน 24 ชั่วโมง และคงประสิทธิภาพในการควบคุมลูกน้ำได้นานหลายสัปดาห์
2. ภายในเซลล์ของแบคทีเรียมีผลึกโปรตีนที่มีสารพิษ ลูกน้ำจะกินแบคทีเรียเข้าไป โดยที่ภายในกระเพาะอาหาร ของลูกน้ำมีสภาพเป็นด่าง เมื่อมีเอนไซม์ออกมาย่อยโปลีเปปไทด์ที่เป็นองค์ประกอบของผลึกโปรตีนนี้ ผลึกโปรตีนก็จะแสดงความเป็นพิษต่อ ลูกน้ำ โดยทำให้เกิดอาการเป็นอัมพาตซึ่งทำให้ลูกน้ำตายได้
3. แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำ Bacillus thuringiensis israelensis มีประสิทธิภาพดีในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และลูกน้ำยุงก้นปล่อง แต่ได้ผลไม่มากนักสำหรับการกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ ส่วนแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพดีในการกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ มีชื่อเรียกว่า Bacillus sphaericus
4. แบคทีเรียที่ได้รับการผลิตออกจำหน่ายตามท้องตลาดมีชื่อการค้าแตกต่างกันไป เช่น Bactimos, Teknar, VectoBac, Larvitab ฯลฯ และมีหลายสูตรให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดของแหล่งน้ำ และชนิดของลูกน้ำยุง

ปลากินลูกน้ำ

1. วิธีกำจัดลูกน้ำวิธีหนึ่งก็คือ การใช้ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลากัด โดยใส่ไว้ในโอ่งหรือบ่อซีเมนต์ที่ใส่น้ำสำหรับใช้ ปลาเหล่านี้จะช่วยกินลูกน้ำในน้ำ ซึ่งเป็นการช่วยควบคุมยุงลายได้ทางหนึ่ง
2. ปลาหางนกยูงเลี้ยงง่ายและขยายพันธุ์เร็ว พันธุ์พื้นเมืองของไทยนั้น ลวดลายไม่ค่อยสวย แต่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดีกว่าพันธุ์สวยงาม ปลาหางนกยูงกินอาหารได้หลายชนิด เช่น ลูกน้ำยุง
ตัวอ่อนแมลงต่างๆ หนอนแดง พืชน้ำ ตะไคร่น้ำ รวมทั้งลูกของมันเอง และลูกปลาอื่นๆ ด้วย ปลาหางนกยูงสามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำสะอาด และน้ำสกปรก ในธรรมชาติจะพบปลานี้ได้ทั่วไปตามลำห้วย ฝายน้ำล้น หนองน้ำ สระน้ำ อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
3. ใส่ปลาหางนกยูง 2-10 ตัวต่อภาชนะ จะช่วยให้ปลอดลูกน้ำยุงลาย ส่วนการคุมกำเนิดปริมาณปลาหางนกยูงในภาชนะทำได้โดยการใส่เฉพาะปลาตัวผู้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้